ศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือ:กลุ่มชาติพันธ์ล้านนา

กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ)









ชนเผ่ากะเหรี่ยง (Karen) เรียกตัวเองว่า ปกาเกอะญอ คนไทยในล้านนามักเรียกว่า ยาง ทางตะวันตกของภาคกลางเรียกว่า กะหร่าง มี ประวัติความเป็นมา ที่กล่าวไว้ว่าเดิมปกาเกอะญออาศัยอยู่ในดินแดนด้านทิศตะวันออกของธิเบต ด้วยนิสัยรักอิสระและชอบชีวิตสันโดษ จึงหนีการรุกรานของชนกลุ่มอื่นมาตลอด ปกาเกอะญอในประเทศไทยแบ่งออกเป็น กลุ่มย่อย ได้ 4 กลุ่มคือ สะกอ โปว บะเวหรือคะยาห์ และ ตองสู การแต่งกาย ของปกาเกอะญอนอกจากจะมีเอกลักษณ์ของความเรียบง่ายแล้วยังแสดงถึงสถานภาพการครองเรือนที่ชัดเจนด้วย ปกาเกอะญอมี ความเชื่อ ที่เน้นเรื่องการเคารพสิ่งศักดิ์สิทธ์ตามรอยบรรพบุรุษที่มีการสืบทอดมาทางมารดา และนำไปสู่การประกอบ พิธีกรรมที่สำคัญ ในวิถีชีวิตเช่นเดียวกับชนเผ่าอื่นๆ การเข้าไปชุมชนปกาเกอะญอควรคำนึงถึง ข้อควรปฏิบัติ ด้วยเช่นกัน

ประวัติความเป็นมา
กะเหรี่ยงเรียกตนเองว่า "ปกาเกอะญอ" ชาวไทยพื้นราบเรียกว่า "ยาง ยางกะเลอ ยางเปียง ยางป่า" บางทีเรียก "กะหร่าง" ในแถบ จ.เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ในพม่าเรียกว่า "กะยิ่น" นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดและ ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยนานที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ เดิมกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในดินแดนด้านทิศตะวันออกของทิเบตและจีน ต่อมาเมื่อถูกจีนรุกราน จึงหนีถอยร่นมาทางใต้เข้ามาในพม่าและประเทศไทย ในพงศาวดารของเมืองเหนือหลายฉบับกล่าวไว้ว่า "นอกจากพวกลัวะ หรือละว้า ยังมีพวกยางหรือกะเหรี่ยงอยู่ตามป่ารอบๆเมือง" จึงสันนิษฐานว่า กะเหรี่ยงได้เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยก่อนชนกลุ่มน้อยอื่นๆ คือประมาณ 200 ปีมาแล้ว

กลุ่มย่อย
กะเหรี่ยงในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อยคือ
สะกอ (Skaw Karen) เรียกตัวเองว่า "จะกอ" หรือ "ปกาเกอะญอ" หมายความว่า "คนเรียบง่าย" เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด
โปว ( Pwo Karen) เรียกตัวเองว่า "พล่ง" อาศัยอยู่ในแถบตะวันตกของ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ อุทัยธานี และกาญจนบุรี
บะเว หรือ คะยา (Bwe or Kayah) ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Red Karen หรือ Karenni คนในภาคเหนือและไทใหญ่เรียกว่า ยางแดง อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
ตองสู หรือ ตองตู (Taungthu) เรียกตัวเองว่า "พะโอ" (Pa-O) อาศัยอยู่ในเขต อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

การแต่งกาย
ปกติหญิงสะกอที่ยังไม่ได้แต่งงานจะสวมชุดสีขาวทรงกระสอบยาวคลุมถึงข้อเท้า คอวี แขนสั้น ทอเส้นสีแดงเล็กๆรอบเอวและชายกระโปรง ปักพู่ไหมพรมสั้นๆตรงชายกระโปรง รอบคอประดับด้วยสร้อยลูกเดือย หิน หรือลูกปัดหลายๆเส้น
ส่วนหญิงสะกอที่แต่งงานแล้ว จะแต่งกายแบบ 2 ท่อน สวมผ้าซิ่นสีแดงสลับขาวเล็กน้อย เสื้อเป็นทรงกระบอกคอวีแขนสั้น พื้นสีดำ ครึ่งอกล่างปักด้วยด้ายสีแดงและลูกเดือยสีขาวเป็นตารางหมากรุก โพกศีรษะด้วยผ้าขาวหรือผ้าขนหนู
หญิงกะเหรี่ยงโปวที่ยังไม่แต่งงาน สวมชุดทรงกระบอกมีลายสีแดงเข้มตรงชายกระโปรงยาวประมาณ 1 ฟุต ด้านบนตรงอกมีลายเส้นขวางสีขาวสลับแดง
หญิงโปวที่แต่งงานแล้ว จะสวมชุด 2 ท่อนคือ เสื้อทรงกระบอกคอวี แขนสอบสั้น พื้นแดง ปักลวดลายด้วยเม็ดเดือยหรือหิน ผ้านุ่งสีแดงมีเส้นตัดขวางสีขาวและดำเล็กน้อย นิยมเกล้าผมมวยเป็นทรงกระพุ่มและขมวดจุกไว้ คาดรอบศีรษะด้วยผ้าแถบสีขาวหรือชมพู สวมสร้อยคอ ลูกปัดและลูกเดือยหิน สวมกำไลข้อมือ และลูกพรวนที่ข้อมือและข้อเท้า
ผู้ชายกะเหรี่ยงสะกอและกะเหรี่ยงโปว จะสวมกางเกงยาวสีดำทรงแบบจีน ชายสะกอสวมเสื้อทรงกระสอบคอวี พื้นขาวทางตั้งสีแดง ส่วนชาวกะเหรี่ยงโปว สวมเสื้อพื้นสีแดง ชายที่ยังไม่แต่งงานนิยมไว้ผมยาวแล้วเกล้ารวมไว้ที่หูข้างซ้ายหรือขวา ประดับด้วยกิ๊บหรือหวี และคาดผ้าแพรรอบศีรษะ
ความเชื่อ
กะเหรี่ยงส่วนมากยังคงนับถือผีเป็นหลัก และผสมผสานกับพุทธศาสนา บางแห่งได้รับอิทธิพลของคริสต์ศาสนาด้วย กะเหรี่ยงเชื่อกันว่า ทุกหนทุกแห่งจะมีผีประจำอยู่ มีทั้งผีดีและผีร้าย เช่น ผีบ้าน ผีไร่ ผีป่า ผีเรือน ผีที่สำคัญคือ ผีบ้าน ผีเรือน เชื่อว่าเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วมาเฝ้าวนเวียนคอยให้ความคุ้มครองดูแลลูกหลานให้อยู่ดีมีสุข
กะเหรี่ยงเชื่อว่า ชีวิตหลังจากตายไปแล้ว วิญญาณจะต้องไปเกิดในภพชาติใหม่ ขวัญจะออกไปจากร่างกายและจะเดินทางไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งคือ โลกของคนตายซึ่งมีสิ่งต่างๆเหมือนในโลกมนุษย์ ในพิธีศพจึงรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ตายฝังรวมไปในหลุมฝังศพ ในเวลากลางคืนจะมีการขับลำนำพื้นบ้าน (อื่อทา แต่ในงานศพเรียกว่าทาปรือ) เพื่อให้ผู้ตายไปสู่สถานที่แห่งความสุขในชั้นสวรรค์
พิธีกรรมที่สำคัญ
พิธีกรรมส่วนใหญ่ของ กะเหรี่ยงจะเน้นไปที่การเซ่นไหว้ผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษที่มีการสืบทอดทางฝ่ายมารดา เพื่อเป็นการขอบคุณและขอขมาในการล่วงเกิน มีการมัดข้อมือในเวลาเจ็บป่วย เป็นการเรียกขวัญและขอให้ผีช่วยปกป้องคุ้มครองให้หายจากการเจ็บป่วย นอกจากนี้ก็มีพิธีกรรมเช่นเดียวกับชนกลุ่มอื่นๆคือ พิธีแต่งงาน พิธีศพ พิธีกินข้าวใหม่ พิธีขึ้นบ้านใหม่ และพิธีปีใหม่ (ซึ่งมีขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์)
ข้อควรปฏิบัติ
ห้ามกระทำผิดในเรื่องชู้สาว กะเหรี่ยงมีความเชื่อเรื่อง ผัวเดียวเมียเดียว อย่างเคร่งครัด
ห้ามพักค้างคืนบนบ้านใหม่ที่ยังไม่ได้ทำพิธีโดยหัวหน้าสายผีผู้หญิง
ห้ามฆ่าสัตว์และดื่มสุราในเขตสถานที่สำคัญของชุมชน
ห้ามเข้าไปในบริเวณที่กำลังทำการเลี้ยงผี
ควรแสดงความเป็นกันเองกับเจ้าของบ้าน ด้วยการไม่ปฏิเสธที่จะดื่มสุราที่เขารินให้




ลาหู่ (มูเซอ)




ประวัติความเป็นมา
ชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า ลาฝู่ หรือ ลาหู่ แปลว่า "คน" เคยมีอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อยู่บริเวณตอนกลางและตอนใต้ของมณฑลยูนนาน เมื่อถูกรุกรานก็จะอพยพเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆในบริเวณประเทศจีน พม่า ลาว และไทย สันนิษฐานว่า คำว่า "มูเซอ" เป็นคำที่ชาวพม่าและไทใหญ่ในรัฐฉานใช้เรียก แปลว่า "นายพราน" เนื่องจากลาหู่มีความชำนาญในการล่าสัตว์

กลุ่มย่อย
ในประเทศไทยลาหู่มีกลุ่มย่อยอยู่ 7 กลุ่มดังนี้คือ
มูเซอดำ หรือ ลาหู่นะ (Lahu Na) ส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนา อาศัยอยู่ในเขต อ.ฝาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย
มูเซอแดง หรือ ลาหู่ญี (Lahu Nyi) เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ อ.เมือง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
มูเซอเฌเล หรือ ลาหู่เชเล (Lahu Shehleh) บางทีเรียกว่า ลาหู่นะเหมี่ยว อาศัยอยู่ในเขต จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก
มูเซอฌีบาหลา หรือ มูเซอเหลือง (Lahu Shi) นับถือศาสนาคริสต์ อาศัยอยู่ใน จ.เชียงราย และเชียงใหม่
มูเซอลาบา หรือ ลาหู่ลาบา (Lahu Laba or Laban) เป็นกลุ่มที่เพิ่งอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเขต อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
มูเซอกุเลา หรือมูเซอขาว หรือ ลาหู่ฟู มีจำนวนเพียงเล็กน้อย อาศัยอยู่ใน จ.เชียงราย
มูเซอกุ้ย หรือ ลาหู่ฌีบาเกียว (Lahu Shibakio) อาศัยอยู่กับกลุ่มอื่น พบใน จ.เชียงราย

การแต่งกาย
เนื่องจากมูเซอ มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นหลายกลุ่ม การแต่งกายของแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะของผู้หญิงมีลักษณะแตกต่างกันออกไปมาก จะขอกล่าวถึงเฉพาะกลุ่มใหญ่ๆบางกลุ่มเท่านั้น
มูเซอแดง ผู้หญิงนิยมสวมเสื้อแขนยาวสีดำหรือสีฟ้า เย็บแถบผ้าสีแดงทาบบนผืนผ้าสีดำ เป็นแถบใหญ่เล็กหลายตอนตรงรอบคอ ชายผ้าและแขนเสื้อ ผ้านุ่งนอกจากจะมีลายสีแดงแล้ว ยังมีสีขาว เหลือง และน้ำเงิน สลับกันอีกด้วย ลักษณะเสื้อเป็นเสื้อแขนยาวทรงกระบอก ใช้ผ้าสีดำ ตัวเสื้อสั้น เปิดให้เห็นหน้าท้อง ผ่าอกกลางติดแถบผ้าสีแดงริมคอลงมาถึงข้างล่าง
มูเซอดำ ใช้ผ้าสีดำเป็นกางเกง เสื้อเป็นแบบแขนยาวเหนือข้อมือเล็กน้อย และยาวลงมาถึงครึ่งน่อง นิยมใช้ผ้าสีดำโพกศีรษะ ปล่อยชายผ้าห้อยไปข้างหลัง

มูเซอเฌเล ผู้หญิงนุ่งกางเกงขายาวสีดำ สวมเสื้อสีดำยาวลงมาเกือบถึงข้อเท้า มีกระดุมโลหะสีเงินเป็นแถบยาวลงมา แขนเสื้อมีผ้าแถบสีเหลือง แดง ขาว เย็บสลับติดกัน และโพกผ้าสีดำ
ส่วนผู้ชาย จะแต่งกายแบบง่ายๆ ส่วนมากใส่เสื้อดำแขนยาว และใส่กางเกงทรงจีนสีดำหลวมๆ ยาวลงไปถึงแค่เข่าหรือใต้เข่าเล็กน้อย
เครื่องประดับ ผู้หญิงนิยมเจาะหูใส่ตุ้มหูเงิน ใช้เข็มขัดเงินคาดเอว ประดับเครื่องเงินที่คอ และหน้าอก กำไลแขน คอ ทำด้วยเงิน

ความเชื่อ
มูเซอมีความเชื่อและเคารพในพระเจ้าองค์เดียวคือ กื่อซา ซึ่งถือว่า เป็นผู้สร้างโลก สร้างความดีทั้งมวล นอกจากนี้ยังให้ความเชื่อถือในผู้นำทางศาสนา คือ ปู่จอง หรือ ตูโบ ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า มูเซอในประเทศไทยนับถือศาสนาอยู่ 2 กลุ่มคือ
กลุ่มที่นับถือผีและพุทธ กลุ่มนี้ยังคงปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิมของตน บูชาเทพเจ้า กื่อซา ต่อมาก็ได้รับเอาพุทธศาสนาไว้ด้วย ได้แก่ มูเซอเฌเล มูเซอแดง มูเซอกุเลา
กลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้แก่ กลุ่มมูเซอดำ มูเซอเหลือง มูเซอแดง และมูเซอลาบา
มูเซอเชื่อว่า เมื่อตายไปแล้ว วิญญาณจะกลับไปอยู่กับ กื่อซา อีก หากเมื่อมีชีวิตได้กระทำแต่ความดี ก็จะได้ไปอยู่ในดินแดนของพระเจ้า มีแต่ความสุข หากกระทำความชั่ว วิญญาณก็จะล่องลอยไปตามป่าเขา


ลีซอ



ประวัติความเป็นมา
ชนเผ่าลีซอ หรือที่เรียกตนเองว่า ลีซู มีถิ่นเดิมอยู่บริเวณต้นน้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง ทางเหนือของประเทศทิเบต และได้อพยพถอยร่นลงมาทางใต้กระจายกันอยู่ในประเทศจีน พม่า อินเดีย และประเทศไทยสำหรับลีซอในประเทศไทยนั้น อพยพมาจากรัฐฉานและตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
ความเชื่อ
ลีซอ นับถือผีมาแต่ประเพณีเดิม ภายในบ้านที่ข้างฝาตรงข้ามกับประตูบ้านมีหิ้งบูชาผีติดอยู่ และจะมีการเซ่นไหว้ผีในพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีกินข้าวใหม่ พิธีกินข้าวโพดใหม่ พิธีแต่งงาน พิธีปีใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีศาลผีประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่สถิตของผีหมู่บ้านหรือผีเมือง และศาลผีภูเขาใหญ่หรือผีหลวง ซึ่งอยู่บนยอดเขา ห่างจากหมู่บ้าน ผีทั้งสองประเภทนี้เป็นผีที่ลีซอเกรงกลัวและให้ความเคารพมาก
ลีซอเชื่อว่า เมื่อมนุษย์ตายไปแล้ว วิญญาณจะออกจากร่าง แต่ยังคงวนเวียนอยู่ไม่สูญหายไปไหน มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ หลังจากที่ทำพิธีฝังหรือเผาแล้ว วิญญาณจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งญาติพี่น้องจะเชิญให้ไปอยู่บนหิ้งบูชาผีที่บ้าน อีกส่วนหนึ่ง ยังคงอยู่บริเวณหลุมฝังศพหรือสุสานจนกว่าญาติจะได้ทำการเซ่นไหว้ประจำปีครบ 3 ครั้งแล้ว วิญญาณจึงจะได้ไปเกิดใหม่ ณ ดินแดนผู้เสียชีวิตที่เรียกว่า ดินแดนเทพเจ้า
ประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญ
พิธีกรรมที่สำคัญในสังคมลีซอมีดังนี
วันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันตรุษจีนมีการเซ่นไหว้ผี และร้องเพลงเต้นรำรอบๆต้นไม้ปีใหม่ในเวลากลางคืน มีการจุดประทัดและยิงปืนเป็นระยะๆ
วันกินข้าวโพดใหม่ ทุกครอบครัวจะจัดพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษและผีประจำหมู่บ้านเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีกำหนดเวลา 3 วัน
วันศีลหรือวันกรรม มีขึ้นทุกๆ 15 วัน ตามจันทรคติ คือวันพระจันทร์เต็มดวงหรือวันเดือนดับ เป็นวันที่ห้ามใช้ของมีคมทุกชนิด ห้ามทำงานในไร่ ห้ามตัดฟืน ห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด
วันไหว้ผีบรรพบุรุษที่หลุมฝังศพ จัดขึ้นหลังจากวันปีใหม่ล่วงไปแล้วได้ 2 เดือน 2 วัน ปกติลีซอมีพิธีไหว้ศพ 3 ครั้ง จัดขึ้นในวันไหว้ผีบรรพบุรุษประจำปีทีเวียนมาถึง เมื่อไหว้ครบ 3 ครั้งแล้ว วิญญาณของผู้ตายจะได้ไปเกิดในภพใหม่
พิธีทานศาลา (ซาลาหลู่) และพิธีเรียกขวัญ (ชอฮาคัว) เป็นพิธีกรรมเพื่อเสริมขวัญให้เข้มแข็งในภาวะที่จิตใจไม่เข้มแข็งหรือยามเจ็บป่วย
การแต่งกาย
ผู้หญิงลีซอ นิยมสวมเสื้อแขนยาวและกว้าง สีน้ำเงิน สีฟ้า และเขียวอ่อนสลับกัน เป็นบั้งๆ บริเวณคอเสื้อทำเป็นเส้นสีขาวสลับดำเป็นชั้นๆ ตัวเสื้อยาวลงมาปิดเข่า ผ่าเอวทางด้านหน้าอกประดับด้วยสร้อยและเหรียญเงินเป็นแถวห้อยลงมา สวมกางเกงขายาวหลวมๆ ยาวถึงใต้เข่า คาดเอวด้วยผ้าสีดำ ด้านหลังมีพู่ห้อยลงมาโพกศีรษะด้วยผ้าสีดำ มีพู่สีสลับกันห้อยระย้าลงมา สวมสร้อยคอกำไล และห่วงเงินใส่คอหลายๆวง
ผู้ชายลีซอ สวมกางเกงขายาวเกินเข่าเล็กน้อยสีฟ้า ดำ หรือน้ำเงินที่น่องสวมสนับแข้ง ใช้ผ้าสีดำขลิบด้วยผ้าขาว สวมเสื้อแขนยาวถึงข้อมือแบบหลวมๆ ติดกระดุมโลหะเงินเป็นแผ่นใหญ่ บริเวณอก ด้านหลังมีกระดุมโลหะเงินติดห่างๆ คาดเอวด้วยเข็มขัดผ้าถักเป็นเส้นกลมๆสีแดง ตรงปลายมีพู่ด้ายสีดำเส้นเล็กๆ ยาวห้อยลงมาถึงเข่า โพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีดำ

อาข่า
ประวัติความเป็นมา
ชนกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า "อาข่า" (Akha) ชาวไทยทั้งหลายในภูมิภาคนี้เรียกพวกเขาว่า "ก้อ" หรือ "อีก้อ" (ซึ่งเป็นชื่อที่เขาไม่ชอบเลย) ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวกลุ่มชนนี้ถูกเรียกว่า "ข่าก้อ" ในประเทศพม่าใช้คำว่า "ก้อ" ในมณฑลยูนนานของจีนแผ่นดินใหญ่และเวียดนาม ชนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า "ฮานี" หรือ "วูนี" (ซึ่งอาจจะกลายมาจากคำว่า "ซาญี" ซึ่งเขาเรียกตนเองในบทกวีและบทสวดภาวนา) ในวรรณกรรมล้านนามักเขียนชื่อชนกลุ่มนี้ว่า "ค้อ" หรือ "ข่าค้อ"
ในยูนนานมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดได้รวมกันเป็นกลุ่มมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองตาลี บริเวณทะเลสาปเอ๋อไห่ (ที่บางท่านว่าเป็น หนองแส) บรรพบุรุษของกลุ่มชาติพันธุ์ก้อ ได้เคยอาศัยอยู่ในขอบเขตของอาณาจักรแห่งนี้ ในบริเวณตอนใต้ระหว่างแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นสิบสองพันนา บริเวณนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลโลโลจำนวนมาก ราวๆคริสตศตวรรษที่19 มีอาข่าจำนวนมากเข้าไปอยู่ในแคว้นเชียงตุง ซึ่งอยู่ชายแดนตะวันออกของรัฐฉานในประเทศพม่า และมีบางส่วนได้อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศลาวและเวียดนาม
อาข่าที่อยู่ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะอพยพเข้ามาจากประเทศพม่า หมู่บ้านอาข่าแห่งแรกในประเทศไทยคงจะตั้งขึ้นในราวพ.ศ.2446 บริเวณบ้านหินแตก (เทอดไทย) ใกล้ชายแดนพม่า ต่อมาก็อพยพเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีอาข่าอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ตาก และกำแพงเพชร
กลุ่มย่อย
กลุ่มย่อยตามเกณฑ์ทางภาษา ตามความเข้าใจของก้อเองเฉพาะในประเทศไทย จะจำแนกออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่พูดภาษา เจ่อก่วย หรือ อู่โล ที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย กลุ่มที่พูดภาษา ลาบือ หมายถึง กลุ่มก้อที่บ้านผาหมี และบริเวณดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีประวัติการติดต่อสัมพันธ์กับชาวจีนมาเป็นเวลานาน ทำให้ภาษาจีนปะปนอยู่กับภาษาก้อเป็นจำนวนมาก บางครั้งกลุ่มนี้ก็ถูกเรียกว่า อีก้อจีน กลุ่มที่สามที่พบในประเทศไทยที่มีความแตกต่างในภาษาที่ใช้คือ อาเคอ บริเวณแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย คือ บริเวณใกล้เคียงบ้านดอยสะโง้ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
กลุ่มย่อยตามเกณฑ์ของถิ่นที่อยู่ กลุ่มที่ถูกเรียกว่า ลอมี หรือ ลอมีซา มีวัฒนธรรมและภาษาที่แสดงถึงความสัมพันธ์ในอดีตกับก้อกลุ่มอื่นๆ แม้จะมีลักษณะการแต่งกาย รูปทรงหมวกของสตรีแตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัด แต่คำว่า ลอมี หมายถึงชื่อสถานที่ คือ ดอยหมี หรือภูเขาทางตอนเหนือของเมืองเชียงตุง ลอมีซา เป็นชื่อภูเขาอีกลูกหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆกัน
กลุ่มย่อยตามเกณฑ์ชื่อคน พบว่าในประเทศพม่ามีการใช้ชื่อคนเป็นคำเรียกชื่อกลุ่มย่อย คือ แลลึมโป และ จอบอง (จอบิยอง) คำว่า จอบอง คือชื่อกษัตริย์ของก้อในอดีต
กลุ่มย่อยตามเกณฑ์ชื่อตระกูล เช่นคำว่า เชอหมื่อ เป็นชื่อตระกูลสำคัญตระกูลหนึ่งที่พบในประเทศไทย คำว่า เชอหมื่อ ใช้เรียกชื่อกลุ่มย่อยของก้อในประเทศพม่า
กลุ่มย่อยตามลักษณะหมวกของผู้หญิง เช่น คำว่า อู่โล้ อู่เปี่ย และ อู่ชุ้ยชุ้ยฉู่ กลุ่มอู่โล้มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย ลักษณะหมวกของสตรีมีลักษณะกลม มีแผงประดับด้านหลัง กลุ่มอู่เปี่ยมีแผงประดับหมวกใหญ่เห็นได้ชัด ส่วนกลุ่มอู่ชุ้ยชุ้ยฉู่ มีลักษณะหมวกกลมป้านเล็ก
การแต่งกาย
อาข่าใช้ฝ้ายทอเป็นผ้าเนื้อแน่นย้อมเป็นสีน้ำเงินเข้มเกือบดำหน้ากว้างประมาณ 17-20 ซม. โดยใช้กี่กระตุกแล้วนำไปย้อมครามซึ่งปลูกไว้เอง การย้อมต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือนและต้องย้อมซ้ำแล้วซ้ำอีก จึงจะได้สีน้ำเงินเข้มตามต้องการ
เครื่องแต่งกายของหญิงอาข่าประกอบด้วย เสื้อตัวสั้นแค่สะโพกเย็บด้วยผ้าสองชิ้นต่อตะเข็บกลางหลังด้านหน้าเปิดอก เย็บข้างและต่อแขนตรงไม่เว้า ด้านหน้าปล่อยเป็นผ้าพื้นเรียบๆ ด้านหลังและแขนเสื้อจะปักปะด้วยผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลากหลายสี สวมกระโปรงสั้นเหนือเข่าให้เอวหล่นลงมาที่สะโพก ด้านหน้ารัดเรียบ ด้านหลังจีบจับเกล็ดถี่ลึก
หญิงอาข่าใช้ผ้าแถบพันห่อรอบอกแล้วผูกหรือติดกระดุมไว้ด้านข้าง มีสายบ่าเส้นเดียวช่วยยึด ผ้าคาดเอวจะหนาและกว้างพอใช้มีชายสองข้างปรกที่หน้าท้องและปักตกแต่งด้วยกระดุม เหรียญ และสายประคำ เวลานั่งจะตกลงมาคลุมเข่าและช่วยปกปิดได้มิดชิด รัดน่องนั้นจะเป็นผ้าฝ้ายสีเข้มมีลวดลายปักปะหลากสีสันเช่นกัน หมวกของหญิงอาข่ามีรูปแบบสวยแปลกและมีสีสันสะดุดตา ตกแต่งด้วยเบี้ยหอย เหรียญเงิน ลูกเดือย ลูกปัด แซมด้วยขนนก ขนไก่ ขนกระรอก และอื่นๆย้อมเป็นสีเหลือง สีแดง เป็นปุยย้อยลงมาข้างหู หมวกของหญิงอาข่าในไทยมี 3 แบบหลักๆ คือแบบทรงสูง รูปกรวยคว่ำหรือหมวกแหลม ใช้ในหญิงอูโล้อาข่า ส่วนหมวกทรงสูงมีแผงเงินตั้งขึ้นด้านหลัง ใช้ในกลุ่มหญิงโลมีอาข่า และหมวกแบบทรง 5 เหลี่ยมหรือหมวกแบน ใช้ในกลุ่มหญิงลาบืออาข่า
ชายอาข่าสวมเสื้อคอกลม แขนยาวผ่าหน้ามีลายละเอียดของแบบและการประดับประดาหลากหลาย ใช้ลวดลายและสีสันเช่นเดียวกับเสื้อผู้หญิง สวมกางเกงขาก๊วยไม่มีการตกแต่งในบางโอกาสจะใช้ผ้าดำโพกศีรษะ พันอย่างแน่นหนาเรียบร้อยจนถอดและสวมได้คล้ายหมวก ผู้อาวุโสจะใช้ผ้าไหมสีชมพูสดถึงแดงโพกศีรษะในโอกาสพิเศษ
เด็กหญิงแต่งกายคล้ายหญิงสาวแต่ไม่ใช้ผ้าแถบและผ้าคาดเอว หมวกที่สวมก็เป็นเพียงแบบเรียบๆ รัดแนบศีรษะแล้วจึงค่อยๆเพิ่มเครื่องประดับให้มากขึ้นตามอายุ เด็กชายแต่งตัวคล้ายผู้ใหญ่แต่สวมหมวกรัดศีรษะ
ความเชื่อ
เรื่องกำเนิดของสรรพสิ่ง ตามตำนานของอาข่า ธรณี (อึ่มมา) และท้องฟ้า (อึ่มก๊ะ) นั้นได้รับการเสกสรรขึ้นมาจากอำนาจของ อาเพอหมี่แย (อาจแปลได้คล้ายๆกับ พระผู้เป็นเจ้า) จากอึ่มก๊ะได้สืบทอดเผ่าพันธุ์ลงมาอีก 9 ชั่วเทพ คือ กาเน เนซ้อ ซ้อซือ ซือโถ โถหม่า หม่ายอ ยอเน้ เน้เบ่ และเบ่ซุม ตำนานนี้ระบุว่ามนุษย์คนแรกเป็นบุตรของ เบ่ซุม ชื่อ ซุมมิโอ ซึ่งถือเป็นบิดาของมนุษยชาติ สืบสายกันลงมาอีก 13 ชั่วโคตร จึงถึง โซตาป่า ซึ่งเป็นมหาบิดรของอาข่าทั้งปวง
จารีตบัญญัติอาข่า หรือ อาข่าซ็อง คือ วิถีปฏิบัติเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปกติสุข เนื่องจากไม่มีภาษาที่ใช้ในการบันทึก จารีตจึงถูกจดจำและถ่ายทอดผ่านทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การประกอบพิธีกรรม เพลง คำพังเพย นิทาน ข้อห้าม และมีอยู่ในระบบคุณค่าต่างๆ ตามตำนานเล่าว่า อาเพอหมี่แย เรียกผู้แทนของชาวเผ่าทุกเผ่ามาชุมนุมกันที่วิมานของท่านแล้วมอบ "จารีตบัญญัติ" ให้แก่ทุกเผ่า เล่มที่มอบให้ผู้แทนเผ่าอาข่านั้นทำด้วยหนังควาย ระหว่างทางกลับหมู่บ้านได้ประสบเหตุพิสดารมากมาย และได้ลงความเห็นกันว่าเป็นเพราะ "จารีตบัญญัติ" เล่มนี้ จึงนำหนังควายนั้นไปเผาไฟกินกันหมด นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาอาข่าจึงสูญเสียอักขระบันทึกไปหมด แต่ก็ได้รับ "จารีตบัญญัติ" ของ อาเพอหมี่แย เข้าไว้ในร่างกายสืบทอดเผ่าพันธุ์มาจนกระทั่งปัจจุบัน
เครือญาติ แม้จะไม่มีภาษาเขียน แต่ผู้ชายทุกคนสามารถที่จะจดจำชื่อบรรพบุรุษตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงชื่อบิดาของตัวเองได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความยาวตั้งแต่ 50 ชื่อขึ้นไป ชื่อเหล่านี้เริ่มต้นจาก อึ่ม อึ่มมะ อึ่มก๊อง พระเจ้า สรรพสิ่ง เทพบริวาร จนถึงลำดับที่ 12 คือ ซึมมีโอ เทพที่เป็นบรรพบุรุษคนแรกของอีก้อทุกคน อาข่าเชื่อว่าทุกคนเป็นญาติพี่น้องกัน เนื่องจากเมื่อท่องชื่อบรรพบุรุษแล้ว จะสามารถทราบได้ทันทีว่ามีความสัมพันธ์ทางเครือญาติใกล้หรือไกลกันอย่างไร การร่ายรายชื่อบรรพบุรุษจนครบองค์นี้มิได้ทำกันอย่างพร่ำเพรื่อ แต่จะทำกันเฉพาะในพิธีสำคัญเท่านั้น เช่น หากหนุ่มสาวอาข่าต้องการจะแต่งงานอยู่กินกันนั้น พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายจะต้องสืบไล่บรรพบุรุษขึ้นไปให้แน่ใจว่า ทั้งสองมิได้ร่วมบรรพบุรุษเดียวกันอย่างเจ็ดชั่วโคตร
ข้อควรปฏิบัติ
ห้ามตัดหรือฟันต้นไม้ในบริเวณรอบๆประตูหมู่บ้าน
ห้ามแตะต้องรูปตุ๊กตาและสิ่งแกะสลักต่างๆ ในบริเวณประตูหมู่บ้าน
ห้ามเข้าไปวิ่งเล่นหรือแสดงอาการลบหลู่ในบริเวณประตูหมู่บ้าน
ห้ามเข้าไปเล่นหรือใช้สิ่งมีคมตัดฟันเสาชิงช้าเล่น



เย้า (เมี่ยน)


ประวัติความเป็นมา
เย้า เรียกตัวเองว่า เมี่ยน (Mien) แปลว่า คน ราชวงศ์ซ่ง (Sung Dynasty) ของจีนมักเรียกว่า เย้า มาจากคำว่า ม่อเย้า หมายถึง ไม่อยู่ในอำนาจใคร เดิมเย้ามีแหล่งกำเนิดแถบตอนกลางของจีน บริเวณลุ่มแม่น้ำฉางเจียว และลุ่มน้ำฮั่นเจีย ต่อมากระจายตัวอยู่มณฑลยูนนาน กวางตุ้ง กวางสี และกุ้ยโจว และได้เคลื่อนเข้าสู่ภาคเหนือของเวียดนาม พม่า ลาว และอพยพจากลาวเข้าสู่ไทย เมื่อประมาณ 145 ปีมาแล้ว ระยะแรกตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณดอยหลวง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นจึงย้ายถิ่นฐานไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน และลำปาง ในประเทศไทยมีเย้าอยู่กลุ่มเดียวคือ กลุ่ม เบี้ยนเย้า หรือ พ่านเย้า
การแต่งกาย
ผู้หญิงเย้า มีการแต่งกายที่ดูเด่น แปลกตา ด้วยการโพกศีรษะด้วยผ้าพิเศษมีทั้งสีแดง น้ำเงินปนดำ พันทับกันหลายชั้น และมีลายปักตรงปลายทั้งสองข้างอย่างงดงาม สวมใส่เสื้อคลุมยาวสีดำ ติดไหมพรมสีแดง เป็นแนวทางยาวรอบคอลงมาด้านหน้าถึงหน้าท้อง สวมกางเกงขายาวสีดำปนน้ำเงิน ด้านหน้าของกางเกงปักลวดลายที่ละเอียดประณีตมากมีหลายสีสลับกัน ใช้ผ้าพันคาดเอวหลายๆรอบ นิยมประดับด้วยเครื่องประดับเงิน เช่น ต่างหู สร้อยคอ สร้อยแขน กำไล และแหวน

ผู้ชายเย้านิยมนุ่งกางเกงจีนขายาวสีดำ สวมเสื้อดำอกไขว้แบบเสื้อคนจีน ติดกระดุมที่คอและรักแร้เป็นแนวถึงเอว
ความเชื่อ
ความเชื่อแบบดั้งเดิมของเย้าคือ ความเชื่อเกี่ยวกับผี (Animism) โดยเชื่อว่าทุกหนทุกแห่งมีผีสิงสถิตอยู่ทั้งสิ้น มีทั้งผีดีและผีร้าย แต่ผีที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือ ผีใหญ่ ซึ่งมีทั้งหมด 18 ตน ในพิธีใหญ่จะมีการนำภาพผีใหญ่มาประดิษฐานในพิธีนั้นๆ และหมอผีผู้ประกอบพิธีจะต้องแต่งตัวใส่ชุดใหญ่ด้วย เย้าเชื่อว่า มนุษย์เมื่อตายไปแล้ว วิญญาณจะเดินทางไปสู่โลกของความตาย ซึ่งมีทั้งแดนที่ดี คือแดนสวรรค์และแดนไม่ดีคือแดนนรก นอกจากนี้เย้ายังเชื่อว่าตามร่างกายของคนเรานั้น มีขวัญประจำตัวอยู่ตั้งแต่แรกเกิด เรียกว่า "ขวัญเปี้ยง" เมื่อเด็กอายุได้ 12 ปี จะมีพิธีรับขวัญของคนหนุ่มสาวเรียกว่า "ขวัญว่วน" ซึ่งเชื่อว่ามีจำนวน 11 ขวัญ ขวัญเหล่านี้จะอยู่กับร่างกายตลอดไปจนกระทั่งตาย เมื่อตายไปแล้วก็จะกลายเป็นวิญญาณไปเกิดในภพใหม่
เย้าได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจีนเป็นอันมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษาเขียน ภาษาพูด ปรัชญาชีวิต วรรณคดี และพิธีกรรมบางอย่างที่แฝงด้วยลัทธิเต๋า และมีคัมภีร์คำสอนที่จารึกด้วยอักษรจีนด้วย
พิธีกรรมสำคัญ
เย้ามีพิธีกรรมที่สำคัญหลายอย่าง เช่น
พิธีบวช จะจัดขึ้นในช่วงหลังจากเสร็จการเก็บเกี่ยวพืชผลเรียบร้อยแล้ว ให้กับกลุ่มผู้ชายที่อยู่ในสายสกุลเครือญาติเดียวกันและอยู่ในลำดับชั้นรุ่นเดียวกัน เพื่อเป็นการอุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพบุรุษ บิดามารดา และสร้างเสริมคุณธรรมทางจิตวิญญาณให้สูงขึ้น การบวชมี 2 อย่างคือ การบวชน้อย จะใช้เวลา 2-3 วัน และการบวชใหญ่ (พิธีโตไซ) จะใช้เวลานานถึง 7 วัน นอกจากนี้ก็มีพิธีแต่งงาน พิธีวันปีใหม่ (ถือตามคติของจีน คือตรงกับตรุษจีนของทุกๆปี) พิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีกินข้าวใหม่ พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ (จะจัดขึ้นปีละ 4 ครั้งเป็นอย่างน้อย) และพิธีเลี้ยงผีฟ้า เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติ
ห้ามเข้าหมู่บ้านที่มีไม้กั้นตรงทางเข้าหมู่บ้าน (ปกติจะปิดกั้นในวันแรกของวันปีใหม่)
ห้ามเข้าบ้านที่มีเครื่องหมายเฉลว หรือ ตะแหลว ปักอยู่หน้าประตูบ้าน
ห้ามนำผลิตผลที่เย้าเก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกมารับประทาน
ห้ามรับประทานเนื้อสุนัขในหมู่บ้าน
ห้ามยิงปืนในหมู่บ้าน
ห้ามจับหิ้งผี และห้ามถ่ายรูปหรือจับภาพผีใหญ่ ก่อนได้รับอนุญาต
ห้ามปีนยุ้งข้าวหรือยุ้งข้าวโพด

ม้ง




ประวัติความเป็นมา
ม้ง เรียกตนเองว่า "ม้ง" หรือ "ฮม้ง" แปลว่า อิสรชน อพยพมาจากทางเหนือลงทางใต้ของจีน ชนกลุ่มม้งทำการต่อสู้กับการรุกรานของชาวจีนเรื่อยมา กลุ่มหนึ่งยอมสวามิภักดิ์เข้ากับฝ่ายจีน ยอมรับและผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมประเพณีของจีน แต่อีกกลุ่มหนึ่งอพยพถอยร่นลงมาทางใต้ ถึงคาบสมุทรอินโดจีน เข้าสู่เวียดนาม ลาว พม่า และไทย ม้งในประเทศไทยส่วนใหญ่อพยพมาจากประเทศลาว เข้ามาทาง จังหวัดเชียงราย น่าน และเลย
กลุ่มย่อย
ม้งในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มย่อยคือ
ม้งน้ำเงินหรือ ม้งจั๊ว และยังมีชื่อเรียกจากชนกลุ่มอื่นแตกต่างไปอีกหลายชื่อ เช่น ม้งเขียว ม้งลาย ม้งดอก ม้งดำ
ม้งขาว เรียกตนเองว่า ม้งเด๊อว์
ม้งกั่วบั้ง หมายถึง ม้งที่สวมเสื้อแบบมีแขนเป็นปล้องๆ มีจำนวนน้อย อาศัยอยู่ในเขต จังหวัดน่าน ส่วนใหญ่ผสมกลมกลืนไปกับม้งน้ำเงินและม้งขาวแล้ว

การแต่งกาย
ในเทศกาลสำคัญม้งนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีเครื่องประดับเงิน ทำเป็นกำไลข้อมือหรือห่วงใส่คอ ผู้ชายม้งขาว นุ่งกางเกงจีบขาบานสีดำ หรือสีน้ำเงิน ผู้หญิงม้งขาว นุ่งกางเกงสีดำหรือน้ำเงิน เป้าไม่ยาน แต่ในพิธีปีใหม่ นุ่งกางเกงสีขาว ไม่ปักลวดลาย ผู้ชายม้งน้ำเงิน นุ่งกางเกงสีดำ มีเป้ายานถึงน่อง ปลายขากางเกงแคบ ส่วนผู้หญิงม้งน้ำเงิน นุ่งกระโปรงจีบ ปักลวดลายสีดำปนน้ำเงิน ขาว และแดง ยาวประมาณถึงเข่า

ความเชื่อ
ความเชื่อของม้ง คล้ายกับชนกลุ่มอื่นคือ เชื่อและนับถือผี ซึ่งมีทั้งผีฝ่ายดีที่ให้คุณแก่มนุษย์ และผีฝ่ายร้ายที่คอยให้โทษ ม้งมีความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ 3 อย่างคือ
โซ้ว ได้แก่ เชื่อในอำนาจของเทพเจ้า หรือเทวดาผู้สร้างโลกและเทพต่างๆ
เน้ง ได้แก่ เชื่อในอำนาจผีดีที่คอยพิทักษ์รักษา
ด๊า ได้แก่ เชื่อในอำนาจของผีที่มีทั้งคุณและโทษ รวมทั้งผีบรรพบุรุษ ม้งเชื่อว่า เมื่อตายไปแล้วจะกลับไปอยู่กับบรรพบุรุษ และขวัญของผู้ตายจะไปเกิดในท้องของหญิงมีครรภ์ และจะเกิดเป็นเพศตรงข้าม
พิธีกรรมสำคัญ
ม้งมีพิธีกรรมสำคัญๆในรอบหนึ่งปี ดังนี้
พิธีวันขึ้นปีใหม่ จัดขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 หรือ เดือน 2 (ทางจันทรคติ ซึ่งตรงกับประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม) เป็นเวลา 5-7 วัน จะมีการเซ่นไหว้ผีและวิญญาณบรรพบุรุษ ผีเตาไฟเล็ก ผีเตาไฟใหญ่ มีการละเล่นรื่นเริงตามประเพณีนิยม เช่น การเล่นลูกช่วง การเล่นลูกข่าง สมาชิกของแซ่สกุลและครอบครัวต่างมาร่วมพิธีกันอย่างพร้อมหน้า
พิธีกรรม "ตู่ซู้" เป็นพิธีเก่าแก่ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน และช่วงเทศกาลวันปีใหม่ เป็นพิธีกรรมเพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้เข้มแข็ง และมีชีวิตที่เป็นปกติสุข
พิธีแต่งงาน โดยมากจะเป็นหลังช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวและหลังเทศกาลปีใหม่ ญาติพี่น้องของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะได้รับเชิญมาร่วมเป็นสักขีพยานในการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานกัน
พิธีงานศพ เป็นงานยิ่งใหญ่งานหนึ่ง นิยมเก็บศพไว้หลายวัน เพื่อรอให้ญาติจากที่ไกลได้มาร่วมพิธี
ข้อควรปฏิบัติ
ห้ามตีกลอง ยิงปืนเล่นในหมู่บ้านในเวลาปกติ เนื่องจากเป็นสัญญาณบอกว่ามีคนในหมู่บ้านตาย
ห้ามเข้าไปในบ้านที่ปิดประตู หรือมีกิ่งไม้ ตะเหลวติดอยู่หน้าบ้าน เพราะเป็นเวลาที่เจ้าของบ้านกำลังอยู่กรรม 1-5 วัน หรือมารดาเด็กอยู่เดือนเป็นเวลา 30 วัน
ห้ามเหยียบธรณีประตู จะทำให้ผีไม่พอใจ และเกิดเจ็บป่วยได้
ห้ามนอนขนานกับหิ้งผี ซึ่งเป็นบริเวณทำพิธีกรรม เชื่อว่าจะนำเหตุร้ายมาสู่เจ้าของบ้าน


ปาดอง (กะเหรี่ยงคอยาว)



ประวัติความเป็นมา
ปาดอง มีชื่อเรียกตนเองว่า แลเคอ หรือ คะยา (Lae Kur or Kayan) คนไทยทั่วไปรู้จักในชื่อว่า กะเหรี่ยงคอยาว (Long Neck Karen) เป็นชนกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งของกะเหรี่ยงคือ กลุ่มบะเว เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในรัฐคะยา ทางภาคตะวันออกของพม่า ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับประเทศไทย ในประเทศไทยพบว่ามีชาวกะเหรี่ยงคอยาวอาศัยอยู่ประมาณ 30,000 คน ในพื้นที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน และมีบางส่วนถูกอพยพย้ายเข้ามาบริเวณ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว
การแต่งกาย
หญิงปาดองมีลักษณะการแต่งกายเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็นมาก โดยปกติผู้หญิงปาดองจะสวมใส่เสื้อทรงกระสอบสีขาว และสวมเสื้อแขนยาวสีดำทับอีกชั้นหนึ่ง สวมกระโปรงแคบสีดำยาวถึงเข่า นิยมไว้ผมยาวแล้วเกล้าเป็นมวยปักด้วยปิ่นหรือหวี ใช้ผ้าสีผูกปล่อยห้อยลงมา สิ่งที่สะดุดตามากได้แก่ เครื่องประดับห่วงทองเหลืองที่สวมใส่บริเวณรอบคอและน่อง บริเวณน่องจะใช้ผ้าแถบสีดำพันรอบอีกทีหนึ่ง จากการสวมใส่ห่วงทองเหลืองนี่เองจึงทำให้กระดูกส่วนไหล่และไหปลาร้าลู่ทรุดลงมา ทำให้ช่วงห่างระหว่างคอกว้าง จนดูเหมือนว่าคอยาวกว่าปกติ
ห่วงคอทองเหลือง
ตามปกติผู้หญิงปาดองจะเริ่มสวมห่วงคอตั้งแต่อายุ 5-9 ขวบ โดยหมอผีจะเป็นผู้ทำพิธีใส่ห่วงให้ โดยครั้งแรกจะสวมประมาณ 5 วง แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้นไปเรื่อยๆจนถึง 20 ห่วงหรือมากกว่านั้น ในแต่ละช่วงอายุจะถอดห่วงออกเพื่อเพิ่มขนาดวงให้ยาวขึ้น ประมาณว่าในช่วงชีวิตหนึ่งจะเปลี่ยนขนาดของห่วงประมาณ 9 ครั้ง
ความเชื่อและประเพณี
ปาดองส่วนใหญ่มีความเชื่อในธรรมชาติและนับถือผี (Animism) จะพบเห็นศาลผีอยู่ทั่วไปตามที่ต่างๆ เช่น บริเวณบ้าน ทุ่งนา ลำธาร ฯลฯ มีบางส่วนนับถือศาสนาพุทธและคริสต์ ประเพณีสำคัญของปาดองมักจะควบคู่กันไปกับพิธีกรรมเซ่นไหว้ผี ซึ่งจัดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร แล้วจึงจัดงานรื่นเริงควบคู่กันไป




ไทลื้อ

ประวัติความเป็นมา
ตามประวัติกล่าวว่าไทลื้อมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเขตสิบสองพันนา และได้ถูกกวาดต้อนมาสู่ล้านนาตั้งแต่ "ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" หรือยุคของการฟื้นฟูและสร้างเมืองลำพูนและเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละ (พ.ศ.2325-2356) และตั้งรกรากอยู่ในล้านนาไทยมาจนปัจจุบัน ไทลื้อกระจายตัวอยู่ทั่วไปในหลายจังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
การแต่งกาย
การแต่งกายของหญิงไทลื้อแบบเดิมคือ การนุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า ใส่เสื้อแขนกระบอกสีคล้ำเรียกตามภาษาไทลื้อว่า "เสื้อปั๊ดจ๊าง" แต่ในปัจจุบันก็มีการเลือกสีสันได้ตามใจชอบ ไว้ผมยาวถึงบั้นเอวและเกล้ามวยไว้ตามธรรมเนียมและโพกผ้าสีขาว วิธีมวยผมของหญิงไทลื้อจะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นหญิงโสดหรือแต่งงานแล้ว การแต่งกายของชายไทลื้อค่อนข้างเรียบง่าย เสื้อและกางเกงทอจากฝ้ายย้อมสีคล้ำอาจเป็นสีดำหรือน้ำเงินหรือสีฝ้ายธรรมชาติ ในการร่วมพิธีสำคัญก็จะมีผ้าโพกหัวเช่นเดียวกับหญิงไทลื้อ ปัจจุบันการแต่งกายได้เปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการไปต่างๆกันแล้วแต่ท้องถิ่น แต่ก็ยังคงรูปแบบหลักๆไว้เช่นเดิม และมักจะสวมใส่ชุดประจำเผ่าเฉพาะในโอกาสสำคัญๆเท่านั้น ในชีวิตประจำวันก็จะแต่งกายเหมือนคนไทยทั่วๆไป
ลักษณะบ้าน
ไทลื้อเรียกแบบบ้านของพวกเขาว่า "หงส์เฮือน" หรือ "เรือนหงส์" ซึ่งมีตำนานกล่าวไว้ว่ามีหงส์เทวดาบินลงมาจากสวรรค์เพื่อมาแนะนำให้บรรพบุรุษของไทลื้อสร้างบ้านใต้ถุนสูงหลังคาลาดต่ำ ซึ่งสามารถกันลมและฝนได้ดีตามลักษณะของหงส์ หลังคาบ้านไทลื้อจะมุงด้วยกระเบื้องไม้หรือ "แป้นเกล็ด" พื้นที่บนบ้านส่วนหนึ่งจะเป็นลานตากข้าวและพืชผัก ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันทำให้บ้านไทลื้อแบบเดิมเหลืออยู่น้อยมาก ไทลื้ออยู่ผสมกลมกลืนกับชาวไทกลุ่มอื่นๆ และได้ดัดแปลงการสร้างบ้านไปตามสมัยนิยม ปัจจุบันมีเรือนไทลื้อที่ได้รับการอนุรักษ์ให้ชื่นชมได้ภายในบริเวณสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พิธีกรรมสำคัญ
พิธีกินแขกแต่งดอง เป็นพิธีแต่งงานของไทลื้อ นิยมทำกันหลังเทศกาลออกพรรษา คือ เดือนเกี๋ยงหรือเดือนยี่ คือราวเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมเป็นต้นไป นิยมทำในเดือนคู่ โดยให้พระสงฆ์หรือผู้รู้ในหมู่บ้านเลือกหามื้อจันวันดีให้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว ปกติงานกินดองจะใช้เวลา 2 วัน วันแรกเรียกว่า "อุ่นดอง" เป็นวันที่ฝ่ายหญิงจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้และอาหารบางอย่างไว้ล่วงหน้าเพื่อเลี้ยงแขกในวันรุ่งขึ้น วันที่สองเป็นวัน "กินดอง" จะมีแขกซึ่งเป็นญาติของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง รวมทั้งชาวบ้านที่มาร่วมงานกันพร้อมหน้า
พิธีทำบุญเสาใจบ้าน เสาใจบ้าน หรือเสาหลักของหมู่บ้าน ไทลื้อจะสร้างเสาใจบ้านขึ้นเมื่อแรกตั้งหมู่บ้านโดยมากมักตั้งอยู่ที่ศูนย์กลาง และถือเป็นที่เคารพของคนในหมู่บ้าน ชาวไทลื้อจะทำบุญเสาใจบ้านหลังสงกรานต์ของทุกปี โดยเชื่อว่าจะช่วยสร้างเสริมความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองและหมู่บ้าน
พิธีฮ้องขวัญ การฮ้องขวัญ หรือ การเรียกขวัญของชาวไทลื้อ มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเพณี ฮ้องขวัญโดยทั่วไปในล้านนา ซึ่งเชื่อว่าคนเรามีขวัญอยู่จำนวน 32 ขวัญ พิธีนี้ทำขึ้นเพื่อเรียกขวัญคนที่ไม่สบายหรือเพิ่งหายจากการเจ็บป่วย ใหม่ให้กลับมาสู่ตัวตน เพื่อมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น
พิธีส่งเคราะห์ เป็นพิธีกรรมเพื่อส่งสิ่งชั่วร้ายต่างๆออกไปจากผู้มีเคราะห์หรือผู้ประสบเคราะห์กรรม เพื่อให้อยู่สบาย ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บและอันตรายทั้งปวง
พิธีปูชาเทียน (อ่านว่า "ปู่จาเตียน") การปูชาเทียน หรือ บูชาเทียน เป็นประเพณีการสะเดาะเคราะห์อีกแบบหนึ่งของชาวไทลื้อ เพื่อบูชาหลีกเคราะห์ภัยต่างๆที่มีมาถึงตนเองและครอบครัวรวมทั้งญาติพี่น้อง นิยมประกอบพิธีในวันเข้าพรรษา ออกพรรษา และเทศกาลสงกรานต์ เทียนที่ใช้บูชาคือเทียนไขหรือเทียนขี้ผึ้งธรรมดา เขียนคาถาเป็นอักขระพื้นเมืองซึ่งเป็นอักษรล้านนาบนเทียนไข
พิธีเก็บขวันข้าว พิธีเก็บขวันข้าว หรือ เก็บขวัญข้าว เป็นประเพณีของชาวนาที่ประกอบพิธีภายหลังฤดูเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ยุ้งฉางและครอบครัว โดยมีความเชื่อว่าเมื่อได้ทำพิธีเก็บขวัญข้าวแล้ว "กิ๋นอึ่มต๊ก จ๊กอึ่มลง" หมายถึง กินไม่สิ้นเปลือง
พิธีสู่ขวันฅวายพิธีสู่ขวันฅวาย หรือสู่ขวัญควาย เป็นประเพณีที่เตือนใจให้คนเราสำนึกถึงบุญคุณของ สัตว์ที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่มนุษย์ที่ได้ให้แรงงานไถนาพลิกแผ่นดินเพื่อปลูกข้าว บางครั้งถูกดุด่าเฆี่ยนตีขณะที่กำลังไถคราด เมื่อสิ้นฤดูกาลไถนาจึงประกอบพิธีสู่ขวัญควาย
พิธีแฮกนา การแฮกนา คือ การแรกนา แบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ การแฮกนาตอนหว่านกล้าและแฮกนาวันปลูกนา (ดำนา) เพื่อกราบไหว้แม่พระธรณีรวมทั้งเจ้าที่เจ้าทางเพื่อขออนุญาตพลิกแผ่นดินทำกิน
พิธีทานข้าวใหม่และกินข้าวใหม่ การทานข้าวใหม่จะเริ่มในตอนเช้า โดยนึ่งข้าวเหนียวใหม่พร้อมทั้งอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลของการกินข้าวใหม่ไปยังบุพการีผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการนำข้าวใหม่ไปถวายพระด้วย ภายหลังกลับจากการทำบุญที่วัดก็จะนำข้าวใหม่และอาหารไปให้บุพการีที่ยังมีชีวิตอยู่รับประทานก่อน เมื่อเสร็จแล้วจึงให้พรแก่ลูกหลาน
พิธีทำบุญเสาใจบ้าน
ยอง(ญอง)
คำว่า "ยอง" ซึ่งชาวล้านนาออกเสียงว่า "ญอง" นั้น มิใช่ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นชื่อเรียกเมือง คือ "เมืองยอง" ในตำนานเมืองยอง อธิบายคำว่า "ยอง" ไว้ว่า หมายถึง หญ้าชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นอยู่ทั่วไปในบริเวณเมืองยอง ต่อมามีนายพรานมาจากอาฬวีนคร (เชียงรุ่ง) เข้ามาเผาหญ้าแผ้วถางป่าเป็นที่เพาะปลูก ทำให้หญ้ายองปลิวไปทั่ว คนเมืองยองสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่งและเมืองอื่นๆในสิบสองพันนา ซึ่งเป็นคนลื้อหรือไทลื้อ และเมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งใหญ่ในเมืองลำพูนในปี พ.ศ.2348 คนทั่วไปจึงเรียกว่า "คนเมืองยอง" เพราะในสมัยนั้นรัฐประชาชาติ หรือรัฐชาติ (Nation State) แบบตะวันตกยังไม่เกิดขึ้น ผู้คนต่างบ้านหลายเมืองที่มาอยู่ร่วมกัน จึงเรียกขานกันตามชื่อบ้านเมืองเดิม เช่น คนเมืองเชียงใหม่ คนเมืองลำปาง คนเมืองแพร่ คนเมืองน่าน คนเมืองเชียงตุง ในกรณีของคนเมืองยอง ต่อมาคำว่า เมือง ได้หายไป คงเหลืออยู่แต่คำว่า คนยอง ดังนั้น ยอง จึงมิใช่ชื่อเรียกชาติพันธุ์ และเมื่อวิเคราะห์จากพัฒนาการและภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเมืองแล้ว คนยอง ก็คือ คนเผ่าไทลื้อนั่นเอง
หนุ่ม - สาว ชาวยอง ยุค พ.ศ.2535
เมืองยองมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "มหิยังคบุรี" "มหิยังคะปัพพตคีรี หมายถึง ภูเขาที่ชื่อมหิยังคะ (ดอยจอมยอง) ปัจจุบันเมืองยองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงตุง ห่างกันประมาณ 80 กิโลเมตร ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 157 กิโลเมตร บริเวณเมืองยองมีลักษณะเป็นแอ่งที่ราบกลางหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ ภูมิประเทศด้านตะวันตกสูงกว่าด้านตะวันออก แม่น้ำสายสำคัญคือ น้ำลาบ น้ำวัง และน้ำยอง จึงไหลไปทางทิศตะวันออก ตำนานเมืองยองได้กล่าวถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ของเมืองยองในอดีตไว้ว่า เมืองยองตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำยอง ขนาดและพื้นที่ของเมืองไม่กว้างใหญ่นัก ยังรกร้างว่างเปล่า แต่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร เพราะมีแหล่งน้ำธรรมชาติและหนองน้ำ จึงนับเป็นแหล่งการเพาะปลูกที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทำให้มีผู้คนพากันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานมาก
ที่ตั้งเมืองยองและอาณาเขตติดต่อ ในปัจจุบันมีคนยองกระจายตัวอยู่ทั่วไปในแถบเมืองต่างๆในรัฐฉานด้านตะวันออกของพม่า, ในเขตสิบสองพันนา มณฑลยูนนานของจีน และภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดลำพูน
เมืองยองในยุคตำนาน
การก่อรูปของเมืองยองในยุคตำนาน น่าจะเริ่มขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 เริ่มต้นจากการตั้งถิ่นฐานและสร้างบ้านแปงเมืองของกลุ่มคนพื้นเมือง ได้แก่ พวกทมิล หรือลัวะ มีการสร้างชุมชนเป็นบ้านหรือเวียงขึ้นในบริเวณที่ราบแม่น้ำยอง มีหมู่บ้านลัวะ 7 แห่ง ตั้งกระจายตัวอยู่ในบริเวณแอ่งที่ราบเมืองยอง เริ่มมีการจัดตั้งทางสังคมโดยมีหัวหน้าชาวลัวะชื่อ "ท้าววิรู" (วิรูปักขะ) ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. 1773-1786 เป็นระยะที่เจ้าเมืองยองเป็นคนพื้นเมือง สมัยที่ "ท้าวงาม" เป็นเจ้าเมืองยองนั้น เป็นช่วงเวลาที่เจ้าสุนันทะ ราชบุตรเมืองเชียงรุ่งพาบริวารมาอยู่ที่เมืองยอง และได้ใช้เวลาอีกหลายปีในการออกอุบายกำจัดและสังหารท้าวงามผู้นำชาวลัวะและไพร่พลจำนวนมาก จนสามารถมีอำนาจเหนือพวกลัวะ โดยมีทั้งปัจจัยภายในเป็นสิ่งสนับสนุน ได้แก่ การผสมผสานระบบ ความเชื่อและพิธีกรรมที่มีอยู่แต่เดิมกับพุทธศาสนาที่เข้ามาภายหลังกับได้สร้างความสัมพันธ์กับคนพื้นเมือง ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางเครือญาติและระบบบรรณาการกับกับเมืองเชียงรุ่ง เชียงตุง และการสร้างพันธมิตรทางการเมืองกับกลุ่มเมืองในที่ราบเชียงราย บนฝั่งแม่น้ำโขงตอนกลาง เช่น เชียงแสน เชียงของ เมืองยองในยุคต้นของตำนานจึงมีความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับเมืองเชียงรุ่งอย่างใกล้ชิด เจ้าสุนันทะทำพิธีราชาภิเษกสถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าเมืองยอง โดยเชิญพระญาเชียงตุง เชียงรุ่ง และเชียงแสนมาร่วมด้วย การสถาปนาอำนาจของไทลื้อเชียงรุ่งในเมืองยอง ทำให้เมืองยองรับวัฒนธรรมไทลื้อ และกลายเป็นไทลื้อเมืองยองในเวลาต่อมา ส่วนชาวลัวะที่พ่ายแพ้ ส่วนหนึ่งหนีไปทางล้านช้าง ส่วนหนึ่งเหลืออาศัยอยู่ตามพื้นที่ดอย ในปัจจุบันมีชาวลัวะและชาวดอยเผ่าต่างๆเข้ามาติดต่อค้าขายกับชาวเมืองอยู่เป็นประจำ
ลักษณะบ้านเรือนและสภาพชุมชนเมืองยอง
เจ้าสุนันทะและเชื้อสายรวม 5 รัชกาล ปกครองเมืองยองจนในที่สุดก็สิ้นวงศ์หาเจ้าเมืองไม่ได้ เพราะเชื้อสายเจ้าเมืองมีใจศรัทธาศาสนาและออกบวชกันหมด ขุนนางต้องช่วยกันดูแลบ้านเมือง เมืองยองว่างเจ้าเมืองถึง 65 - 67 ปี
ที่ตั้งของเมืองยองมีสภาพเป็นนครรัฐที่เล็กมาก เนื่องจากมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีพื้นที่ราบน้อย เศรษฐกิจของเมืองยองเป็นการผลิตผลทางการเกษตรเพื่อยังชีพที่มั่นคงถาวร ไม่ใช่เมืองการค้าจึงไม่ใช่เมืองที่มั่งคั่ง นอกจากนี้ที่ตั้งของเมืองยังอยู่บนเส้นทางผ่านของกองทัพ เช่น ทัพฮ่อที่เดินทางจากยูนนานมาเชียงใหม่จะใช้เส้นทางผ่านเมืองยองเพราะเป็นเส้นทางที่ใกล้ เมืองยองจึงเดือดร้อนจากภัยสงครามอยู่เสมอ
เมืองยองมีประตูเวียง 7 ประตู คือ ประตูเสื้อเมือง ประตูน้อย ประตูดินแดง ประตูม่อนแสน ประตูปางหิ่ง ประตูหูหูด และประตูผาบ่อง บริเวณใจกลางเมืองมีต้นสรี หรือต้นโพธิ์ มีไม้ค้ำโดยรอบ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเรื่อง "ไม้ค้ำสรี" เช่นเดียวกับคนเมืองในล้านนา ซึ่งมีความเชื่อว่าธรรมชาติ เช่น ต้นไม้และหนองน้ำ ถือเป็นรากฐานสำคัญในชีวิตมนุษย์ จึงถูกนำมาปรับเป็นคติความเชื่อ ถือว่าเป็นสรี เป็นมิ่งของเมือง หรือของชุมชน ชุมชนคนไทลื้อแถบสิบสองปันนาในปัจจุบัน ยังคงเห็นร่องรอยของการที่ชุมชนให้ความสำคัญแก่ต้นไม้ เช่น ต้นไทร หรือไม้นิโครธ ซึ่งในท้องถิ่นเรียกว่า ต้นลุง โดยชุมชนจะกันพื้นที่บริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่เอาไว้ และเรียกบริเวณนั้นว่า ใจบ้าน ซึ่งถือเป็นสถานที่ของส่วนรวม เมื่อมีงานปอยประจำหมู่บ้านก็จะใช้สถานที่ดังกล่าวจัดพิธีกรรมแทนการใช้บริเวณวัด ในตำนานเมืองยอง ได้กล่าวถึงความเชื่อนี้ว่า ในสมัยพญาสุรังควุฒิ เจ้าเมืองยองลำดับที่ 8 (พ.ศ.1945-1984) มีพระอรหันต์ 4 องค์ นำไม้มหาโพธิ์มาปลูก เพื่อหื้อเป็นมิ่งเมือง พร้อมกับปลูกต้นเดื่อไว้คู่กัน เพื่อให้คนและเทวดาได้ไหว้และบูชา เขตเมืองยองในปัจจุบันยังปรากฎไม้สรีใจเมืองหรือต้นโพธิ์ 2 ต้น ที่ชาวเมืองยังคงให้ความสำคัญกับเมืองและความเชื่ออยู่ ต้นแรกอยู่ที่กลางข่วงเมืองหน้าหอคำเจ้าเมืองแต่เดิม และอีกต้นหนึ่งอยู่ที่วัดหัวข่วง
แนวกำแพงเก่าของเมืองยอง
เขตกำแพงเมืองยองมีลักษณะกลมรี ตั้งอยู่บนเนินสูง มีคูน้ำคันดิน ที่ตั้งประกอบด้วยประตูเมืองทั้ง 4 ด้านคือ
ด้านเหนือ ติดกับดอยปางหนาว มีประตูม่อนแสน
ด้านใต้ ติดที่ราบมีแม่น้ำยองไหลผ่าน มีประตูเสื้อเมือง
ด้านตะวันออก ติดที่ราบ มีประตูป่าแดง และประตูน้อย
ด้านตะวันตก ติดเทือกเขา มีประตูปางหิ่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองยองกับเมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่มีความสัมพันธ์กับเมืองยองในฐานะที่เป็นฝ่ายแผ่อิทธิพลเข้าครอบครองเมืองยอง เมืองยองตกเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช อาณาจักรล้านนาได้แผ่แสนยานุภาพออกไปอย่างกว้างขวาง ได้เมืองยองและเชียงรุ่งเป็นเมืองขึ้น เมืองยองเป็นเมืองขนาดเล็กตั้งอยู่ระหว่างแคว้นสิบสองพันนากับล้านนา เมื่อเชียงใหม่ขยายอำนาจสู่เชียงรุ่ง จำเป็นต้องปราบเมืองยองและเชียงตุงเสียก่อน เมื่อพระเจ้าติโลกราชยึดได้เมืองยองแล้ว ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะพระธาตุจอมยองศูนย์รวมจิตใจของชาวยอง ทรงบูรณะโดยสร้างวิหาร ถวายผู้คนและยกเมืองยองเป็นทานแก่พระธาตุจอมยองทั้งสิ้น ชาวยองที่เป็นข้าทำงานรับใช้พระธาตุ จะได้รับการยกเว้นไม่เสียส่วยหรือภาษี ปัจจุบันยังมีชาวบ้านกอมเป็น "ข้าพระธาตุ" ช่วยกันหาบน้ำขึ้นดอยเพื่อถวายพระธาตุอันแสดงถึงความเชื่อดั้งเดิมที่ยังดำรงอยู่ตลอดมา เมื่อเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เมืองเล็กเมืองน้อยที่เคยเป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ก็ตกเป็นเมืองของพม่า นับตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา เมืองยองขึ้นกับพม่าเกือบตลอดเวลา มีบางเวลาที่พม่าอ่อนแอ จึงเกิดช่องว่างทำให้เมืองอื่นที่เข้มแข็งกว่าเข้ามาแทรกแซง สภาพเมืองยองจึงเดือดร้อนจากศึกสงครามมาก เพราะตั้งอยู่บนทางผ่านของกองทัพ จึงยากที่จะหลีกเลี่ยงภัยสงครามได้
ในสมัยพระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองยองและเมืองใกล้เคียงลงมาไว้ที่ลำพูน สภาพในเมืองยองจึงมีผู้คนหลงเหลืออยู่จากการถูกกวาดต้อนน้อยเต็มที นโยบายกวดต้อนผู้คนจนกลายเป็นเมืองร้าง สร้างความไม่พอใจแก่เจ้ามหาขนานเชื้อสายเมืองเชียงตุงและเจ้าพุทธวงศาเมืองยอง จึงร่วมกันหันไปขึ้นกับพม่า เพราะเห็นว่าพม่าไม่เคยกวาดต้อนผู้คน ประกอบกับคิดว่าอย่างไรพม่าก็ต้องปราบปรามไว้ในอำนาจอยู่แล้ว ต่อมาเจ้าพุทธวงศาจึงรวบรวมผู้คน 150 หลังคาเศษกลับมาตั้งเมืองใหม่ เมืองยองจึงคืนเป็นบ้านเมืองสืบต่อมาจนปัจจุบัน
คนยองเมืองลำพูน ในระหว่างปี พ.ศ.2325-2347 ก่อนการรื้อฟื้นเมืองลำพูน พระเจ้ากาวิละยังไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองลำพูน จึงยังคงมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ.2348 พระเจ้ากาวิละเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งและฟื้นฟูเมืองลำพูนอันเป็นนโยบายการเตรียมกำลังคนเพื่อสนับสนุนเชียงใหม่เมื่อมีการสงคราม เมืองลำพูนจึงอยู่ในสภาพที่จะรองรับผู้คนที่มาจากเมืองยองและเมืองต่างๆ นอกจากนี้เมืองลำพูนยังอยู่ติดกับเมืองเชียงใหม่ ทำให้สามารถควบคุมดูแลได้โดยง่าย ต่อมาในราวเดือนเมษายน ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ.2348 พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้เจ้าคำฝั้นและบริวารจากเมืองเชียงใหม่ เจ้าบุญมาน้องคนสุดท้องและบริวารจากเมืองลำปาง เจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตรภรรยา น้องทั้ง 4 ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์และไพร่พลจากเมืองยองนับได้ 19,999 คน เข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่ ต่อมาจึงรื้อฟื้นเมืองลำพูนได้ เจ้าเมืองยอง บุตรภรรยา ญาติพี่น้อง ขุนนาง และพระสงฆ์ระดับสูง ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเวียงยอง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ส่วนไพร่พลต่างแยกย้ายกันออกไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่างๆของลำพูน
การที่ชาวยองเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูนอย่างเป็นกลุ่มก้อนเป็นจำนวนมาก ทำให้กลุ่มเจ้าเจ็ดตนที่ปกครองเมืองลำพูนอยู่ ยินยอมให้เจ้าเมืองยองและญาติพี่น้องมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งแตกต่างจากเจ้าเมืองอื่นๆที่อพยพเข้ามาในคราวเดียวกัน
แสดงการกระจายตัวของคนยองในภาคเหนือของไทย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2444-2445 ได้จัดทำสำมะโนประชากรเมืองลำพูนเป็นครั้งแรก ในสมัยของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูนลำดับที่ 9 พบว่ามีประชากรทั้งหมด 199,394 คน ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยองและเมืองอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เมืองยู้ เมืองหลวย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสหภาพพม่า และสิบสองพันนาของจีน เมืองลำพูนจึงมีประชากรส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 89 เป็น คนยอง หรือ ชาวยอง องค์ประกอบด้านประชากรจึงแตกต่างไปจากหัวเมืองอื่นๆในล้านนา การผสมผสานและการปรับตัวของคนยองในเมืองลำพูน จึงไม่ใช่เป็นลักษณะของคนส่วนน้อยในสังคม ดังเช่น กลุ่มชาวเขิน ลื้อ ลัวะ กะเหรี่ยง ยางแดง ไทใหญ่หรือเงี้ยว จีนหรือฮ่อ ที่อพยพเข้ามาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ คนยอง ในเมืองลำพูน จึงยังคงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมบางอย่าง เช่น ภาษาไว้ได้ค่อนข้างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

สรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับเมืองยอง

กลุ่มชาวลัวะหรือทมิล ได้จัดตั้งชุมชนในบริเวณหนองน้ำด้านตะวันตกเฉียงเหนือของ เมืองยอง ในราวพุทธศตวรรษที่ 18
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 เจ้าสุนันทะ บุตรชายเจ้าเมืองเชียงรุ่ง พาบริวารมาตั้ง ถิ่นฐานและอยู่ร่วมกับคนพื้นเมืองคือชาวทมิลต่อมาได้มีอำนาจปกครองเมืองยอง
พุทธศาสนาจากเมืองเชียงรุ่งได้เผยแผ่เข้ามาถึงเมืองยอง สมัยพระยาสุรังควุฒิ เจ้า เมืองยองลำดับที่ 8 (พ.ศ.1945-1984) มีการนำเอาพระธาตุมาบรรจุและสร้างพระธาตุบนเนินเขาด้านทิศใต้บนฝั่งแม่น้ำยอง เรียก "พระธาตุจอมยอง" และมีการปลูกต้นโพธิ์หรือไม้สรีด้านทิศตะวันออกของตัวเมือง เพื่อเป็นสรีเมือง ปัจจุบันเรียก "ไม้สรีคำ"
พระญาติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในตำนานเมืองยองระบุเป็น พระเจ้าอโศกธัม มิกราช ปกครองเมืองยองเป็นลำดับที่ 9 อยู่ในช่วงสั้นๆ พระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุง บ้านเมืองสงบปราศจากศึกสงคราม
ระหว่างปี พ.ศ. 2030-2038 เมืองยองส่งบรรณาการให้ทั้งเมืองเชียงใหม่และเชียงรุ่ง
พ.ศ. 2050-2100 เมืองยองไปขึ้นกับพม่า
พ.ศ.2191 เมืองยองขึ้นกับเมืองเชียงแขง ภายใต้การดูแลของเชียงรุ่ง
หลังปี พ.ศ. 2191 เมืองยองกลับไปขึ้นกับพม่าอีกครั้งหนึ่ง และได้รับมอบหมายให้ดู แลหัวเมืองต่างๆทางตอนบน เจ้าเมืองยองหลายคนพยายามแยกตัวเป็นอิสระจากพม่า แต่ไม่สำเร็จ
พ.ศ. 2348 สมัยเจ้าฟ้าหลวงเมืองยองลำดับที่ 33 เชียงใหม่ได้ส่งกองทัพมากวาดต้อน ผู้คนนับได้ 19,999 คน จากเมืองยองลงมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองลำพูน
พ.ศ. 2356 พระเจ้ากาวิละได้พาเจ้าสุริยวงศา เจ้าเมืองลำดับที่ 34 และไพร่พลที่เหลือ อยู่ลงมาที่เชียงใหม่ ลำพูน
พ.ศ.2484 ทหารจีนกองพล 93 กรมที่ 278 จากสิบสองพันนา ยกเข้าตั้งที่เมืองยอง ผู้ คนแตกตื่นหนีออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมาก
ระหว่างปี พ.ศ. 2487-2488 กองทัพไทยได้ยกเข้าไปตั้งที่เมืองยองแทนทหารจีนกองพล 93 จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ถอยกลับลงมา
สมัยเจ้าหม่อมหงส์คำ เจ้าเมืองลำดับสุดท้ายถึงปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลพม่าได้ยกเลิก ตำแหน่งเจ้าเมือง ให้เมืองยองมีฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดเชียงตุงจนถึงปัจจุบัน
เมืองยองเมื่อปี พ.ศ. 2541 ประกอบด้วยหมู่บ้านประมาณ 79 หมู่บ้าน มีประชากรราว 11,999-13,999 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองต่างๆ ในสิบสองพันนาปะปนกับชาวดอย เช่น แอ่น ว้า อีก้อ ประกอบอาชีพด้านการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

calendar

สามารถติดต่อได้

ผู้ติดตาม

About this blog

phung

free counters